หน้าเว็บ

งานการสาธารณสงเคราะห์

 
 
 
งานการสาธารณสงเคราะห์
     พระพรหมวชิรญาณ ขณะยังเป็นพระสงฆ์ผู้น้อย ได้เอาใจใส่สนองงานพระศาสนา ของเจ้าอาวาสและผู้บังคับบัญชา ในด้านการกุศลสาธารณสงเคราะห์ต่างๆ โดยจัดรับและบริจาคปัจจัยพร้อมสิ่งของต่างๆ ส่งไปสงเคราะห์พระสงฆ์และประชาชนผู้ประสบภัยต่างๆทุกครั้งตลอดมา
     สำหรับการสาธารณสงเคราะห์ในชนบทประเทศไทยที่เป็นรูปธรรมนั้นพระพรหมวชิรญาณ ได้เริ่มด้วยการสนองงานในเจ้าพระคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณณกมหาเถร) คือ
     พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๘ เนื่องจากถนนจากแยกอำเภอปักธงไชย ไปยังวัดหน้าพระธาตุ บ้านตะคุ และหลายตำบล เป็นถนนอเนกประสงค์ที่ประชาชนเดิน ทั้งรถและเกวียน ตลอดถึงวัวควายก็ใช้ร่วมกัน จึงเสียหายง่าย และมักจะถูกน้ำท่วมใช้การไม่ได้แทบทุกปี ประชาชนได้รับความ
เดือดร้อน เป็อัมาก จึงได้มาขอความเมตตาจากเจ้าพระคุณสมเด็จฯให้ช่วยอนุเคราะห์
     พระพรหมวชิรญาณ ในฐานะเลขานุการ ได้รับมอบหมายจากเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ให้ช่วยดูแลเกี่ยวกับการนี้ ได้ขอความอนุเคราะห์กำลังจาก
หน่วยต่างๆ ตลอดถึงกำลังทหาร กรป.กลาง เป็นเจ้าภาพสร้างและบำรุงรักษาถนนสายนี้ ประมาณ ๔ กม. เป็นเวลาหลายปี ต่อมาจึงได้มอบให้กรมทางหลวงไปดำเนินการ
     พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๘ ได้รับมอบหมายให้ประสานงานกับชาวบ้าน ในการจัดหาซื้อที่ดิน และขอความอนุเคราะห์จากกรมชลประทานในการขุด
สระ ในชาติภูมิของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จำนวน ๔ สระ ตลอดถึงในการสร้างอุโบสถและศาลาการเปรียญที่วัดหน้าพระธาตุ อำเภอปักธงไชย จังหวัดนครราชสีมา
     พ.ศ. ๒๕๑๘ พระพรหมวชิรญาณ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสุธีรัตนาสภรณ์ ได้นำคณะสงฆ์และประชาชนชาวบ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี  พัฒนาวัดบ้านยางน้อย ทั้งในด้านศาสนวัตถุ ศาสนสถาน ศาสนธรรม ศาสนพิธี และศาสนบุคคล อาทิ
     - สร้างกุฏิสงฆ์ ๓ หลัง สร้างอุโบสถ ๑ หลัง, ศาลาการเปรียญอเนกประสงค์ ๑ หลัง, วิหารประดิษฐานพระพุทธโลกนาถสุโขทัย หน้าตัก ๑๐๘ นิ้ว ในพระนาม ญสส. ของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ๑หลัง, สร้างวิหารประจำสี่ทิศรอบอุโบสถ ๔ หลัง, สร้างระบบประปาบาดาลส่งถึงกุฏิทุกหลังในวัด พร้อมห้องน้ำและห้องสุขาประจำวัด รวม ๒๐ ห้อง
     พ.ศ. ๒๕๓๐ พัฒนาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในวัด พร้อมกับส่งเสริมการศาสนศึกษาแผนกธรรมและบาลี และการปฏิบัติธรรม ทำให้วัดบ้านยางน้อย ได้รับยกย่องจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างในปี ๒๕๔๓
     พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้นำสภาตำบลก่อเอ้ พัฒนาถนนในหมู่บ้านยางน้อย จากเดิมเป็นถนนคดเคี้ยวไปมาเป็นถนนตรงตัดกันเป็นตาหมากรุก พัฒนาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย สร้างประปาบาดาล และนำระบบไฟฟ้ามาใช้ในหมู่บ้าน พร้อมพัฒนาให้ทุกหลังคาเรือนมีส้วมซึม
     พ.ศ. ๒๕๓๕  พระพรหมวชิรญาณ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพประสิทธิมนต์ ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการปฏิบัติงานในโครงการ ปลูกป่าถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ ๕ องค์กร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พร้อมกับออกปฏิบัติหน้าที่ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
     พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นประธานขอความสนับสนุนจากรัฐบาล สร้างสถานีอนามัย และพัฒนาในด้านสาธารณสุข บ้านยางน้อย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี (จนได้รับพระราชทานเป็นสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในปี ๒๕๔๓),
     - ขอความอุปถัมภ์ กรป.กลาง ตัดถนนสาธารณะจากถนนแจ้งสนิท เข้าไปในป่าหนองแฝก เชื่อมกับถนนในหมู่บ้าน ๓ กม., นำพระสงฆ์ทหารตำรวจนักเรียนพ่อค้าประชาชนดำเนินโครงการปลูกต้นไม้และอนุรักษ์ธรรมชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ในบริเวณวัด, ในหมู่บ้าน, ในโรงเรียน และในที่ราชพัสดุป่าหนองแฝกเนื้อที่ ๑,๘๐๐ ไร่
     - ขอความสนับสนุนจาก จังหวัดอุบลราชธานี, กรป.กลาง และกรมชลประทาน ขุดสระเก็บน้ำในบริเวณป่าหนองแฝก จำนวน ๑๒ สระ,
     - อุปถัมภ์ โครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก ศูนย์ศึกษาและปฏิบัติการอุดม ศึกษา เพื่อพัฒนาท้องถิ่นแบบยั่งยืน สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี ในที่ราชพัสดุบ้านยางน้อย ในส่วน ๑,๐๐๐ไร่ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี ๒๕๓๘,
     - เป็นประธาน แก้ปัญหาเรื่องที่ดินสาธารณะหนองแฝกบ้านยางน้อย อุบลราชธานี ที่ค้างคามายาวนาน เพื่อการพัฒนาใช้ประโยชน์สวนรวมเป็นผลสำเร็จด้วยหลักรัฐศาสตร์ โดยปัจจัยส่วน ตัว ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) เป็นประเดิม ในปี ๒๕๔๓
     พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นวโรกาสสำคัญ ได้เป็นประธานจัดพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ รอบ ถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในนามคณะสงฆ์และประชาชน ร่วมกันจัดถวาย ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เริ่ม ๒๔-๒๘ กรกฎาคม
    ในการนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯไปในพิธีวันที่ ๒๔ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จฯไปในพิธีวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ด้วย
     พ.ศ. ๒๕๔๓ นี้ เป็นปีที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พระพรหมวชิรญาณ ได้รับพระราชทานให้เป็นประธาน ให้นำคณะ เชิญถุงพระราชทานของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ๑,๐๐๐ ถุง และถุงโดยเสด็จพระราชกุศลในพระ
องค์ ร่วมกับจังหวัด กาชาดจังหวัด และอำเภอต่างๆ ออกไปมอบแก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ถึงพื้นที่ประสบภัยในเขตจังหวัดอุบลราชธานี
จำนวน ๑๑,๕๐๐ ถุงคิดเป็นเงิน ถุงละ ๑,๓๐๐ บาท รวมทั้งค่าขนส่งทางรถและทางเครื่องบิน ๔ ครั้งๆละ ๔ เที่ยวละ ๒ แสนบาท รวมค่าใช้จ่ายการจรต่างๆในครั้งนี้ เป็นเงินประมาณ ๑๕ ล้านบาท
     พ.ศ. ๒๕๔๓ ปลายปีนี้ อากาศจังหวัดอุบลราชธานีหนาวจัด ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก ท่านได้รับพระราชทานให้นำสิ่งของและผ้าห่มออกไปสงเคราะห์ประชาชนอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
     อนึ่ง พระพรหมวชิรญาณ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณใน สมเด็จพระศรีนครินราบรมราชชนนี ที่ทรงมีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ
แผ่นดิน ปรารถนาที่จะให้พสกนิกรไทยในต่างแดนได้ร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดีและร่วมบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศล จึงได้จัดพิธี
ถวายดอกไม้จันทน์ ขึ้นที่วัดธัมมาราม นครชิคาโก ในวันและเวลาเดียวกัน กับพระราชพิธีที่ท้องสนามหลวง ประเทศไทย
     จึงได้ขอพระบรมราชานุญาต ทำการถ่ายทอดสดพิธีพระราชทานเพลิงศพ จากท้องสนาม หลวง ไปยังพิธีที่วัดธัมมาราม นครชิคาโก โดยความสนับสนุนจาก บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์ ทีวี.กองทัพบก ช่อง ๗ สี และการสื่อสารแห่งประเทศไทย
     ซึ่งการถ่ายทอดสดทั้ง ๒ วาระ แม้จะต้องลงทุนจำนวนไม่น้อย แต่ก็คุ้มค่าเมื่อได้เห็นชาวไทยและชาวต่างชาติปีติเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกัน
บำเพ็ญกุศลและได้แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีและความจงรักภักดีอย่างท่วมท้นต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จย่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น